แผ่นดินสะเทือน ประวัติศาสตร์เลื่อนไหล ใน “ดาวคะนอง” โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ต้องขอบคุณ Documentary Club ที่นำหนังไทยเรื่องสำคัญ ดาวคะนอง (ชื่ออังกฤษว่า By the Time It Gets Dark) กลับมาฉายให้ชมฟรีทางช่อง VOD จะบอกว่าเป็นการชี้ช่องต่อฝ่ายอำนาจก็ได้ แต่ในบรรยากาศของการเมืองที่รุ่มร้อน การช่วงชิงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์ และเรื่องเล่าเช่นในตอนนี้ หนังเรื่อง ดาวคะนอง ของผู้กำกับ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2558 กลายเป็นหนังที่เหมาะสมกับช่วงเวลาขึ้นมาอีกครั้ง

ขอบรรยายสรรพคุณก่อน ดาวคะนอง ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และตัดต่อยอดเยี่ยม และยังได้รางวัลใหญ่จากหลายเวทีของไทยในปีนั้น ซึ่งจะว่าไปถือว่าเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ (ที่น่าดีใจ) ไม่น้อย เพราะนี่ไม่ใช่หนังบันเทิง แต่เป็นหนังที่ถอดรื้อโครงสร้างของประวัติศาสตร์และการเล่าเรื่องในแบบเดิม โดยอ้างอิงเหตุการณ์การสังหารหมู่นักศึกษาอันโหดร้ายในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเชื้อ ส่วนในปีนี้เอง ผู้กำกับอโนชา ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินศิลปาธร (รางวัลสำหรับคนทำงานศิลปะที่อยู่ในช่วงกลางของอาชีพ) โดยกระทรวงวัฒนธรรมอีกด้วย

ส่วนในต่างประเทศ ดาวคะนอง เป็นหนังที่นักวิจารณ์ต่างชาติชื่นชอบกันมากและทำให้ อโนชา กลายเป็นผู้กำกับร่วมสมัยที่สื่อสารกับสังคมภาพยนตร์ในระดับโลกได้อย่างเต็มตัว ตรงนี้ต้องวิเคราะห์ให้ถูกประเด็น เพราะถึงแม้หนังจะผูกโยงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทยอย่างเข้มข้น และเป็นหนังไทย ใช้ดาราไทย (มี เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ ร่วมแสดงด้วย) แต่ในแง่ของศิลปะภาพยนตร์และการพิเคราะห์รูปแบบของหนัง ดาวคะนอง มีความลึกซึ้งในการเล่นกับโครงสร้างการเล่าเรื่อง การใช้ปรัชญาของเวลาที่ทับซ้อน และการใช้ภาพยนตร์เป็นอุปมาของการแสวงหาความทรงจำที่นับวันมีแต่จะเลือนราง และแตกสลายกลายเป็นพิกเซลที่กระจัดกระจาย ราวกับฮาร์ดดิสก์ที่ถูกขูดพื้นผิวจนเปิดไม่ได้ คุณสมบัติของการเล่าเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนดูหนัง นักวิชาการ และนักวิจารณ์นอกประเทศไทย ที่ถึงแม้ว่าจะไม่คุ้นเคยหรือไม่ตระหนักถึงความหนักหน่วงของเหตุการณ์ 6 ตุลา สามารถมองเห็นคุณค่าและความร่วมสมัยของหนังเรื่องนี้

ดาวคะนอง เล่าเรื่องของคนทำหนัง ที่พยายามค้นหาความจริงจากความทรงจำของผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา จากนั้นหนังสลับไปยังเรื่องของนักศึกษาสาว ที่ (อาจจะ) เป็นภาพจำลองของหนังในช่วงแรก ทำให้นี่เป็นหนังซ้อนหนังที่สลับไปมาระหว่างความจริงและเรื่องแต่งหลายชั้น บางช่วงคล้ายสารคดี บางช่วงหลุดออกจากพื้นผิวของหนังในชั้นแรก แสดงถึงภาวะการลื่นไหลของสิ่งที่เรียกว่า story และ history รวมทั้งเพ่งพินิจความหมายของคำว่า “ภาพยนตร์”

แต่สิ่งสำคัญคือ หนังเรื่องนี้มีหัวใจ มีความรู้สึก ไม่ใช่เป็นเพียงการเล่นแร่แปรธาตุเพื่อความสนุกสนานของคนทำ ความรู้สึกใน ดาวคะนอง คือความสูญเสีย ความโหดร้ายที่กำลังจะถูกลืม และความหวังริบหรี่ที่ถูกปิดกั้น อุดปาก จนเกือบหายใจไม่ออก รวมทั้งความกระหายใคร่รู้ในสิ่งเลือนรางที่เรียกว่า ความจริง

นั่นทำให้หนังเรื่องนี้กลับมาได้ถูกที่ถูกเวลา ในช่วงเวลาที่นักเรียน นักศึกษาจำนวนมาก กำลังพยายามมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ และช่วงเวลาที่อดีตอันโหดร้ายของเดือนตุลาถูกหยิบกลับมาพูดเพื่อเตือนสติในความขัดแย้ง เพราะภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา ภาพยนตร์อย่าง ดาวคะนอง จึงยังเปล่งแสงให้คนดูได้ตระหนักว่าการเรียกร้องและต่อสู้ทางสังคมและการเมือง ทำได้ทั้งนอกจอและในจอ