สนับสนุนเนื้อหาเรื่องย่อ TENET ว่าด้วยสายลับที่กำลังเรียนรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานของเวลาเพื่อทำภารกิจให้ลุล่วง และหาคำตอบให้ได้ว่าหากกระสุนอันหนึ่งเดินไปข้างหน้าตามเวลา แล้วกระสุนอีกอันกำลังเดินย้อนกลับ เขาจะสามารถแยกออกไหมว่ากระสุนอันไหนคืออันไหน? ส่วนการฝึกฝนในครั้งนี้จะสำคัญต่อภารกิจของเขาอย่างไร สุดท้ายแล้วเขาจะเข้าใจกลไลของเวลาอย่างถ่องแท้หรือไม่
ผลงานของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ยังคงเฮี้ยนในพลอตสุดประหลาดล้ำ โดยเฉพาะเมื่อเขามาจับเรื่องเกี่ยวกับ ความจริง (Reality) คราได้ก็ได้แต่ต้องเหวอรับประทานไปเสียทุกครั้ง และเครื่องมือในการเล่นกับ ความจริงของโนแลนครั้งนี้ เขาใช้ของถนัดมืออย่างการเคลื่อนที่ไปหน้า-ย้อนหลังของ เวลา ได้อย่างที่ต้องกุมขมับว่าภาพเหตุการณ์เบื้องหน้า เรากำลังดูอะไรเกิดขึ้นอยู่กันแน่? เพราะมันช่างประหลาดและขาดคำอธิบายที่มากพอ
ปกติโนแลนจะให้เวลาฟูมฟักหนังแต่ละเรื่องของเขาให้มีช่องว่างระหว่างการฉายแต่ละเรื่องอยู่ราว ๆ 2 ปี แต่กับ Tenet น่าจะเป็นโพรเจ็กต์ที่เล่นใหญ่เอาการของโนแลน เพราะเรื่องนี้เว้นจากเรื่องก่อนหน้าอย่าง Dunkirk อยู่ถึง 3 ปี ซึ่งไม่แน่ใจว่าเวลาที่มากขึ้นจะทำให้บทหนังของเขาคมขึ้น หรือเกินพอดีไปหลายโยชน์กันแน่ เพราะสิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้แทบจะตรงกันคือ มึนงง
มึนงงในที่นี้ต้องบอกว่าไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจหนังเลย เราอาจเข้าใจเรื่องราวหลัก ๆ ได้แทบทั้งหมดว่าใครเป็นใคร อยู่ฝ่ายไหน เส้นเรื่องหลักตัวละครเหล่านี้มีเป้าหมายอะไร หรือตลอดจนจุดหักมุมที่ก็ไม่ได้ใหม่จนเดาไม่ออก หลายจุดเชยในพลอตแบบหนังลูปเวลาที่เดาได้ง่ายตั้งแต่ต้นเสียด้วยซ้ำ
สิ่งที่เราไม่เข้าใจกลับเป็นการร้อยต่อของฉากเหตุการณ์เสียมากกว่าที่เดินหน้าถอยหลัง/ถอยหลังเดินหน้าไปมาอยู่แทบตลอด การปล่อยศัพท์แสงที่ไม่น่าเข้าใจง่าย ๆ ทั้งศัพท์ฟิสิกส์หรือชื่อเฉพาะในเรื่องที่อยู่ ๆ ก็โพล่งขึ้นมาแล้วก็ไม่อธิบายอะไรมาก หรือบางฉากตัวละครก็อยู่ในชุดคลุมใบหน้าจนเราแยกไม่ออกว่าดูใครอยู่กันแน่ ในแง่ความเข้าใจต่อเนื้อเรื่องบางครั้งตัวละครเองก็เข้าใจทุกอย่างดี (ด้วยว่าเขาผ่านเหตุการณ์ในอนาคตมาแล้ว เพียงผู้ชมอย่างเรานี่ล่ะที่ยังดูไม่ถึงเอง) แต่ส่วนใหญ่ตัวละครหลักของ จอห์น เดวิด วอชิงตัน ก็พยายามแทนสายตาผู้ชมให้เป็นเพื่อนงงกับสิ่งที่เผชิญ ถึงบางครั้งเราจะรู้สึกเหมือนถูกตัวละครทอดทิ้งเป็นพัก ๆ เช่นกัน (เพราะเมื่อเขาเข้าใจบางอย่างขึ้นมา เขาก็ไม่ได้อธิบายอะไรกับผู้ชมอย่างเรา)
จึงเป็นทั้งจุดแข็งที่เรื่องขับด้วยปริศนาที่เราต้องให้สมาธิในการเก็บข้อมูลตลอดเวลา สนใจภาพตรงหน้าตลอดเวลา และกลายเป็นจุดอ่อนว่าเราแทบไม่อินหรือใส่ใจความเป็นไปของตัวละครใดนัก เพราะตัวละครก็ไม่ได้ใส่ใจคนดูเหมือนกัน ยังไม่นับว่าจังหวะการผ่อนอารมณ์ที่น้อยไปหน่อย ความลื่นไหลในการเล่าสร้างความเข้าใจนั้นก็เข้าขั้นขรุขระ กระโดดสายตาอยู่หลายครั้ง หลายฉากเห็นความพยายามดันทุรังไปต่อไม่รอแล้วนะของผู้กำกับ จนเราก็รู้สึกช่างมันละกันกับไอ้ฉากนี้ ๆ ไม่เข้าใจก็ได้ (ฟระ)
แต่เทคนิคเหล่านี้ ก็ล้วนเป็นความจงใจที่โนแลนใช้เป็นเสน่ห์ให้กับหนังพลอตเชย ๆ เกี่ยวกับสายลับเรื่องนี้ให้พิศดารขึ้นมาก (จะว่าแกโกงการเล่าเรื่องของตัวเองก็ได้) เช่นเดียวกับที่ตัวละครเน้นย้ำแก่กันเสมอว่า ความไม่รู้คืออาวุธ และ สิ่งที่สำคัญที่จะเข้าใจหนังทั้งหมดอยู่ที่คำถามว่า อย่างไร มากกว่าคำถามอื่น โนแลนก็อาศัยข้อมูลที่ผู้ชมมีน้อยมาก ๆ แถมยังอาศัยการลักไก่ด้วยจังหวะการเล่าที่รวดเร็ว ชวนสับสน แทบไม่หยุดให้หัวผู้ชมโล่ง ๆ ได้หยุดคิดเลย กลายเป็นว่าหนังเรื่องนี้ดูยากขึ้นทันที ทั้งที่จริงเรารู้สึกตะหงิดลึก ๆ ว่าถ้ามีเวลากดรีโมตกลับไปดูฉากนี้ซ้ำ กดหยุดพิเคราะห์ภาพตรงหน้า เราอาจกระจ่างมากกว่านี้ก็ได้ ซึ่งว่ากันแฟร์ ๆ มันก็คือกลยุทธ์ดึงคนให้ดูซ้ำในโรงหนังนั่นล่ะ
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าหนังเรื่องนี้จะสำแดงอิทธิฤทธิ์ได้ดีที่สุดในโรงเท่านั้น ไม่ใช่เพียงเพราะภาพจากกล้องไอแม็กซ์สุดอลังการฝีมือของ โฮยเต ฟาน โฮยเตมา หรือสกอร์เสียงติดหูของ ลุดวิก เยอรันส์ซอน หรือจากทีมเบื้องหลังส่วนอื่น ๆ ที่ล้วนระดับโปรทั้งนั้น เพราะเสน่ห์ที่ว่ามาของพลอตหนังสุดเวอร์นี้ ลองกลายไปเป็นหนังออนดีมานด์ที่อำนาจควบคุมการเล่าเรื่องอยู่ในมือคนดูแล้วล่ะก็ หนังเทพก็จะเข้าขั้นพังพินาศกลายเป็นหนังพยายามทำตัวงงเกินจำเป็นไปได้เช่นกัน
บางทีบทหนังเรื่องนี้อาจไม่มีอะไรมากเลยก็ได้นะ ถ้าเอาองค์ประกอบที่จงใจทำให้คนงง (จนเกินงาม) ออกไป ในขณะที่ด้านโพรดักชันเองแม้นจะเป็นหนังที่ลงทุนสูงมาก ๆ ติดอันดับของโนแลน แต่เราก็ไม่ได้ประทับใจมากเท่าทุนที่หนังลงไปเลย หลายฉากในหนังเรื่องเก่า ๆ ของแกยังมีพลังมากกว่านี้เสียอีก อย่างไรก็ดีก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไอ้นวัตกรรมการเล่าเรื่องในหนังนี้ ถ้าไม่ใช่โนแลน เราคงไม่มีวันได้ดูล่ะ